วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การเพาะเห็ดนางฟ้า


เห็ดนางฟ้ามีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดนางรม เห็ดทั้งสองชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์ (family) เดียวกัน ชื่อ "เห็ดนางฟ้า" เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นในเมืองไทย คนไทยบางคนเรียกว่าเห็ดแขก เนื่องจากมีผู้พบเห็นเห็ดนี้ครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย พบขึ้นตามธรรมชาติบนตอไม้เนื้ออ่อนที่กำลังผุ ในแถบเมืองแจมมู (Jammu) บริเวณเชิงเขาหิมาลัย ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Pleurotus sajor-caju (Fr.) Singer

ลักษณะของดอกเห็ดนางฟ้า มีลักษณะคล้ายกับดอกเห็ดเป๋าฮื้อ และดอกเห็ดนางรม เมื่อเปรียบเทียบกับเห็ดเป๋าฮื้อ ดอกเห็ดนางฟ้าสีจะอ่อนกว่า และมีครีบอยู่ชิดกันมากกว่า เห็นนางฟ้าสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นนานได้หลายวัน เช่นเดียวกับเห็ดเป๋าฮื้อ เนื่องจากเห็ดชนิดนี้ไม่มีการย่อตัวเหมือนกับเห็ดนางรม ด้านบนของดอกจะมีสีนวลๆ ถึงสีน้ำตาลอ่อน ในอินเดียดอกเห็ดมีขนาดตั้งแต่ 5 - 14 เซนติเมตร และจะมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 30 - 120 กรัม เห็ดนางฟ้ามีรสอร่อย เวลานำไปปรุงอาหารจะมีกลิ่นชวนรับประทาน เห็ดชนิดนี้สามารถนำไปตากแห้ง เก็บไว้เป็นอาหารได้ เมื่อจะนำเห็ดมาปรุงอาหาร ก็นำไปแช่น้ำเห็ดจะคืนรูปเดิมได้

วงจรชีวิตของเห็ดนางฟ้าก็เป็นแบบเห็ดทำลายไม้ทั่ว ๆ ไป คือมีชีวิตอยู่ข้ามฤดูอัตคัด ด้วยคลามีโดสปอร์ในท่อนไม้ พอถึงฤดูชุ่มชื้นก็งอกออกมาเป็นเส้นใย แล้วสร้างดอกเห็ดขึ้น ปล่อยสปอร์ลอยไป สปอร์งอกเป็นเส้นใยแล้วเจริญไปบนอาหารจนสร้างดอกเห็ดอีก วนเวียนไปอย่างนี้

วัสดุการเพาะเห็ดนางฟ้า

ส่วนมากจะใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา หรือขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณ หรือใช้ฟางข้าวก็ได้ ตาม ฟาร์มเห็ดทั่วไปแล้วเพื่อความสะดวกในการหมักและผสมวัสดุจึงนิยมใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ซึ่งเป็นขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อนและมีสารอาหารที่มีคุณค่าในการเพาะเห็ดมาก

อัตราส่วนในการผสมวัสดุอื่นๆ
1. ขี้เลื่อย 100 กก.
2. รำละเอียด 6 กก.
3. ปูนขาว 1 กก.
4. ดีเกลือ 0.2 กก.

5. น้ำสะอาด 60 %



วัสดุทั้งหมดนี้สามารถปรับเปลี่ยน เพื่อความเหมาะสมได้ เมื่อชั่ง หรือตวงวัสดุทั้งหมด แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน และ หมั่นตรวจดูความ ชื้นบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้วัสดุเปียกแฉะจน เกิน ไป ซึ่งจะ ทำให้มีผลในการทำให้เชื้อเห็ดไม่เดิน



การบรรจุถุง
ใช้ถุงสำหรับการเพาะเห็ดโดยเฉพาะขนาด 6 / ด 12 / นิ้ว โดยกรอกวัสดุที่ผสมลงให้เต็มถุง ใช้มือปาดปากถุงแล้วกระแทกแรง ๆ ทุบให้แน่นที่สุด ใส่คอขวดพลาสติก แล้วปิดฝา ด้วยจุกสำลี จากนั้นนำไปนึ่งฆ่าเชื้อให้มีความร้อนประมาณ 100 องศาเซลเซียล นาน 3 ชม. ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นจึงเขี่ยเชื้อเห็ด

วิธีเขี่ยเชื้อเห็ด

ให้ทำความสะอาดวัสดุทั้งหมดโดยฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์คือ
1. เช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์ให้สะอาด
2. ใช้แอลกอฮอล์เช็ดขวดเชื้อให้ทั่วขวด
3. เอาขวดที่เช็ดด้วยแอลกอฮอล์แล้วใช้ปากขวดลนตะเกียงแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อแล้วจึงเขี่ยเชื้อได้

การพักเชื้อเห็ด
เมื่อเสร็จสิ้นขบวนการเขี่ยเชื่อเห็ดแล้ว จึงนำเอาก้อนเชื้อเห็ดที่เขี่ยแล้วไปพักไว้ในโรงพักเชื้อ เพื่อ ให้เชื้อเห็ดที่เขี่ยแล้วไปพักไว้ในโรงพักเชื้อเพื่อให้เชื่อเห็ดเดินในถุงเพาะเต็มที่จากนั้นนำเข้าโรงเรือน เพื่อปิดดอกซึ่งใช้ระยะเวลาในการพักเชื้อประมาณโดยเชื้อเห็ดนางฟ้า 25 วัน เชื้อเห็ดนางรม 25-30 วัน จึงทำให้เกิดดอกและสามารถเก็บบริโภคและจำหน่ายได้

การให้น้ำเห็ด
เห็ดนางฟ้า ควรรดน้ำวันละ 3 เวลา เช้า-เที่ยง-เย็น โดยให้ละอองน้ำอยู่เหนือ ถุงเห็ด ทั้งหมด และไม่ให้น้ำเข้าในคอขวดของ ถุง โดยเฉพาะ กรณีที่มีฝนตกตลอดทั้งวันอาจจะรดเช้า-เย็นก็ได้

การเก็บดอก
ควรเก็บดอกที่มีขนาดโตเต็มที่ ด้วยการสังเกตหมวกของดอกเห็ดมีลักษณะบาน และให้ทำความสะอาดโคนของเห็ดหลังจากการเก็บดอกเห็ดทุกครั้ง

การแปรรูปดอกเห็ด
เห็ดนางฟ้า สามารถที่จะแปรรูปด้วยการอบแห้ง ดองเพื่อบรรจุกระป๋อง ทำลาบเห็ด ยำเห็ด ทำแหนมเห็ด ทำแจ่วบองเห็ด ฯลฯ ซึ่งสามารถปรับปรุงสูตรการแปรรูปได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น